EP-02 โรคเบาหวานกับโภชนาการ และการดูแลรักษา

Last updated: 8 มิ.ย. 2564  |  2789 จำนวนผู้เข้าชม  | 

EP-02 โรคเบาหวานกับโภชนาการ และการดูแลรักษา

ปัจจุบัน “โรคเบาหวาน” ถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ และยังได้รับการจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 5 โรคยอดฮิตที่คุกคามสุขภาพคนไทย เพราะสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่มักจะพบว่ามีโรคเบาหวานเป็นโรคประจำตัว ซึ่งส่งผลต่อการดำเนินชีวิตและคุณภาพชีวิต เนื่องจากการที่ร่างกายไม่สามารถคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ ทำให้ผู้ป่วยเบาหวานต้องดูแลตัวเองเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย ร่วมกับการรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด

เบาหวาน เกิดจากความผิดปกติของร่างกายที่ผลิตฮอร์โมนอินซูลินลดลง ร่างกายจึงไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงส่งผลให้ระดับน้ำตาลในกระแสเลือดสูงเกินไป หากเป็นเช่นนี้ในระยะยาว อาจมีผลในการทำลายหลอดเลือด ที่สำคัญ หากผู้ป่วยไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม จะนำไปสู่สภาวะโรคแทรกซ้อนที่รุนแรงได้


- ผู้ที่เป็นเบาหวาน 2 ใน 3 ราย จะมีโรคอ้วน ไขมันในเลือดสูง และความดันโลหิตสูงร่วมด้วย
- ผู้ที่เป็นเบาหวาน มีโอกาสเป็นโรคหัวใจเพิ่มขึ้น 2 – 4 เท่า ของคนปกติ
- ผู้ที่เป็นเบาหวาน 3 ใน 4 ราย มักเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิต

โดยเฉพาะผู้ที่เป็นเบาหวานและมีความดันโลหิตสูงร่วมด้วย จะมีอัตราการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มเป็น 2 เท่าของผู้ที่มีความดันโลหิตสูงแต่ไม่เป็นเบาหวาน อีกทั้งยังมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนที่ตา ไต และสมองเพิ่มขึ้นด้วย

ป่วยเบาหวาน คุมน้ำตาล ไขมัน ความดันได้ ปลอดภัยจากโรคแทรกซ้อน

สำหรับการรักษาไขมันในเลือดผิดปกติในผู้ป่วยเบาหวาน สิ่งสำคัญก็คือ “การควบคุมอาหาร” โดยผู้ป่วยต้องควบคุมไม่ให้น้ำตาลต่ำหรือสูงเกินไป ดังนั้นการเลือกรับประทานอาหารที่เสี่ยงต่ออาการข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นภายหลังจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งวิธีการควบคุมอาหารง่ายๆ ก็คือ

  1. รับประทานอาหารในปริมาณที่พอเหมาะ เพื่อให้น้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
  2. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ได้แก่ แป้ง โปรตีน ไขมัน วิตามิน เกลือแร่ และใยอาหาร
  3. หลีกเลี่ยงหรือลดการรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว และอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง ซึ่งไขมันอิ่มตัวจะพบในไขมันจากสัตว์ น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว และกะทิ ส่วนคอเลสเตอรอลนั้นจะพบในเนื้อสัตว์ เครื่องใน ไข่แดง และนมเนยต่างๆ

ในเรื่องของการป้องกัน วิธีที่ทุกคนสามารถปฏิบัติได้ นั่นก็คือ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างพอดีไม่หักโหมจนเกินไป นอกจากจะทำให้ร่างกายแข็งแรงแล้ว ยังช่วยลดระดับ LDL (ไขมันเลว) ขณะเดียวกันช่วยให้ HDL (ไขมันดี) สูงขึ้นด้วย แต่หากผู้ป่วยมีการควบคุมอาหารและออกกำลังกายแล้ว แต่ยังไม่สามารถลดระดับไขมันในเลือดให้อยู่ในระดับที่ต้องการได้ ก็อาจจำเป็นต้องพิจารณาการใช้ยาลดระดับไขมันในเลือดร่วมด้วย

ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตผู้ป่วยเบาหวานอย่างไร

ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้ป่วยเบาหวานในหลายด้าน ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต ทั้งยังส่งผลกระทบต่อการทำงาน การนอนหลับ และการใช้ชีวิตประจำวัน

โดยสถิติจากสมาพันธ์เบาหวานนานาชาติพบว่าผู้ป่วยโรคเบาหวานยังคงเพิ่มขึ้นทุกปีทั่วโลก ซึ่งสิ่งที่พบได้บ่อยคู่กับการรักษาคือ ภาวะน้ำตาลต่ำในกระแสเลือด อาการที่พบเด่นชัดคือจะมีอาการมือสั่น อ่อนเพลีย หงุดหงิด เหงื่อออก ตัวเย็น ใจสั่น หัวใจเต้นแรงและเร็ว หรือปวดศีรษะ มึนงง หน้ามืด ตาลาย หรืออาจจะรุนแรงถึงขั้นหมดสติ หรือ ถ้าเกิดในขณะนอนหลับ จะรู้สึกปวดศีรษะ เหงื่อออกมาก ฝันร้าย ตื่นขึ้นมาเสื้อผ้าเปียกชุ่มไปด้วยเหงื่อ รู้สึกกระสับกระส่ายนอนต่อไม่ได้ หัวใจเต้นแรง ซึ่งอาจทำให้หมดสติ และอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

ในผู้ป่วยบางรายเลือกวิธีลดขนาดยาลดน้ำตาลเพื่อเลี่ยงโอกาสที่จะเกิดภาวะนี้ จึงทำให้ผลการรักษาระดับน้ำตาลในเลือดไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ในระยะยาว

โดยภาวะน้ำตาลต่ำในเลือดส่งผลกระทบถึงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเบาหวานถึง 4 ด้านคือ ผู้ป่วยมีคุณภาพการนอนที่ลดลง, ผลกระทบในการปฏิสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้าง, ผลกระทบต่อการทำงาน และส่งผลถึงสุขภาพโดยรวมของตัวผู้ป่วยเองอีกด้วย

ดังนั้น นอกเหนือจากแพทย์ที่ซักถามอาการภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำกับผู้ป่วยแล้ว ตัวผู้ป่วยเอง ครอบครัว รวมถึงผู้ดูแล ล้วนมีส่วนสำคัญที่ช่วยกันในการลดความเสี่ยงการเกิดภาวะน้ำตาลต่ำนี้ให้น้อยที่สุด เพื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุดจากการรักษา

ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับอาหารเบาหวานความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับอาหารเบาหวาน

1. ผู้เป็นเบาหวานห้ามรับประทานข้าวและแป้ง เพราะเป็นสาเหตุให้เกิดโรคเบาหวาน และน้ำตาลในเลือดขึ้นสูง 

ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจเบื้องต้นก่อนว่า อาหารกลุ่มข้าวและแป้ง เป็นกลุ่มอาหารที่ให้สารอาหาร คือ คาร์โบไฮเดรต ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานหลักของร่างกาย โดยเมื่อเรารับประทานอาหารกลุ่มข้าวและแป้งเข้าไป ร่างกายจำเป็นต้องย่อยข้าว – แป้งให้กลายเป็นนํ้าตาลกลูโคส เพื่อจะให้ร่างกายสามารถดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด แล้วนำส่งไปยังตับ เพื่อเปลี่ยนแปลงให้เกิดพลังงานแก่ร่างกาย 

ดังนั้น ถ้าผู้ป่วยเบาหวานไม่รับประทานอาหารกลุ่มข้าวและแป้งเลย สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับร่างกาย อันดับแรกคือ ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ร่างกายขาดแคลนพลังงานจากคาร์โบไฮเดรต ส่งผลให้ไม่มีแรงและอ่อนเพลีย แต่ในทางกลับกัน ถ้าผู้เป็นเบาหวานได้รับอาหารกลุ่มนี้มากเกินไป ก็จะส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นสูง และพลังงานส่วนเกินที่ได้รับอาจจะก่อให้เกิดโรคอ้วน ซึ่งจะนำไปสู่โรคแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เป็นต้น เพราะฉะนั้น หัวใจสำคัญในการเลือกรับประทานอาหารกลุ่มข้าวและแป้งสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานจึงต้องพิจารณา 2 ปัจจัย คือ ชนิดและปริมาณของอาหารที่เราเลือกรับประทาน 

โดยเทคนิคการเลือกรับประทานอาหารกลุ่มข้าวและแป้งสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน มีดังนี้

  • เลือกอาหารกลุ่มข้าวและแป้งที่ผ่านกระบวนการขัดสีน้อย หรือผ่านกระบวนการแปรรูปน้อย เน้นชนิดที่มีปริมาณใยอาหารสูง เพื่อช่วยชะลอการเปลี่ยนแป้งเป็นน้ำตาลให้เกิดขึ้นอย่างช้าๆ เช่น ข้าวกล้องและธัญพืชที่ผ่านกระบวนการขัดสีน้อย
  • เลือกอาหารกลุ่มข้าวและแป้งที่มีค่าดัชนีน้ำตาต่ำ
  • จำกัดปริมาณการรับประทานอาหารกลุ่มข้าวและแป้ง ให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสมและเพียงพอกับความต้องการของร่างกาย
  • หลีกเลี่ยงอาหารกลุ่มข้าวและแป้งที่มีน้ำตาลสูง เช่น น้ำตาล น้ำหวาน น้ำผึ้ง รวมถึงอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบ เช่น น้ำอัดลม

     

2. น้ำตาลจากผลไม้ คือน้ำตาลที่ปลอดภัยสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

 สำหรับน้ำตาลจากผลไม้ ส่วนใหญ่เป็นน้ำตาลชนิดที่เรียกว่า “น้ำตาลฟรุคโต๊ส” (Fructose) ซึ่งเป็นน้ำตาลที่มักพบตามธรรมชาติ โดยมีข้อแตกต่างจากน้ำตาลทราย คือ นํ้าตาลฟรุคโต๊สมีความหวานมากกว่าน้ำตาลทรายประมาณ 1.3 เท่า และมีอัตราการดูดซึมเข้าสู่ร่างกายช้ากว่าน้ำตาลทราย แต่อย่างไรก็ตาม การรับประทานน้ำตาลฟรุคโต๊สในปริมาณที่มากเกินไป อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นได้ ถึงแม้จะเพิ่มขึ้นช้ากว่าการรับประทานน้ำตาลทรายก็ตาม แต่สุดท้ายแล้วมันก็จะส่งผลให้น้ำตาลในเลือดสูงได้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังอาจส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของไขมันในเลือดที่เราเรียกว่า “ไตรกลีเซอไรด์” อีกด้วย 

ดังนั้น ความเชื่อที่ว่าผู้เป็นเบาหวานสามารถรับประทานผลไม้ได้ตามต้องการ โดยไม่กระทบกับระดับน้ำตาลในเลือด เพราะเป็นน้ำตาลที่มาจากธรรมชาตินั้น ถือเป็นความเชื่อที่ผิด

เคล็ดลับในการรับประทานผลไม้ ไม่ให้ระดับน้ำตาลในเลือดขึ้นสูง ก็คือ การเลือกชนิดของผลไม้ที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ มีใยอาหารสูง และข้อสำคัญผู้ป่วยเบาหวานต้องจำกัดปริมาณผลไม้ ไม่เกิน 3 ส่วนต่อวัน หรือ ไม่เกิน 1 ส่วนต่อมื้อ ไม่ควรรับประทานผลไม้ปริมาณมากๆ ในครั้งเดียว และควรเลือกรับประทานเป็นผลไม้สดจะดีกว่าการดื่มน้ำผลไม้ 

“โรคเบาหวาน” เมื่อเป็นแล้วผู้ป่วยจะไม่มีทางรักษาให้หายขาดได้ หากไม่มีการดูแลรักษาอย่างถูกต้องก็จะนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ได้มากมาย ดังนั้นทั้งตัวผู้ป่วยเบาหวานเอง ครอบครัว และผู้ดูแล ต้องใส่ใจดูแลสุขภาพอย่างถูกต้องถูกวิธี ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมน้ำตาลในเลือด ความดันโลหิต ไขมันในเลือด และน้ำหนักตัว ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เพื่อประคองอาการของโรคไม่ให้ทวีความรุนแรง ทั้งนี้ก็เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีและอายุที่ยืนยาวของผู้ป่วยนั่นเอง

ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ลาดพร้าว 101 เนอร์สซิ่งโฮม เราทราบดีว่าผู้สูงอายุแต่ละท่านมีข้อจำกัดหรือมีปัญหาสุขภาพที่แตกต่างกัน เราจึงมีนักโภชนาการที่คอยดูแลด้านอาหารสำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ เช่น อาหารสำหรับผู้สูงอายุที่ป่วยด้วยโรคเบาหวาน ซึ่งกว่าจะมาเป็นอาหารหนึ่งจานนั้น เรามีการดูแลควบคุมในทุกขั้นตอนตั้งแต่การจัดเตรียมจัดหาวัตถุดิบ ไปจนถึงขั้นตอนการปรุง เพื่อให้อาหารทุกจานมีรสชาติที่ถูกปาก แต่ยังคุณค่าทางโภชนาการที่ครบถ้วน

เพราะทุกปัญหาผู้สูงวัย วางใจให้เราดูแล ลาดพร้าว 101 เนอร์สซิ่งโฮม 



ขอขอบคุณข้อมูลจาก :

-            https://www.foryoursweetheart.org/บทความ/การดูแลผู้ป่วย/น้ำตาลต่ำในผู้เป็นเบาหวาน/TH

-            https://www.dailynews.co.th/article/675029

-            https://www.bangkokpattayahospital.com/

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้